ดัชนีสันติภาพโลกเผยให้เห็นว่าประเทศที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งเพิ่มจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

ลอนดอน, 11 มิถุนายน 2567 /PRNewswire/ — วันนี้เป็นวันเปิดเผยรายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) หรือ GPI ฉบับที่ 18 จากสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace) หรือ IEP ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองระดับโลก โดยเผยให้เห็นว่าโลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่เพิ่มสูงขึ้นหากไม่ร่วมมือดำเนินการแก้ไข

 

 

ผลการค้นพบที่สำคัญ 

  • มี 97 ประเทศที่มีความสงบสุขลดลงมากกว่าทุกปีนับตั้งแต่เริ่มเผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลกในปี 2551
  • ความขัดแย้งในกาซ่าและยูเครนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความสงบสุขลดลงทั่วโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากการสู้รบถึง 162,000 คนในปี 2566
  • ในปัจจุบัน มี 92 ประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนอกพรมแดนของตน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นเผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลก
  • ระบบการให้คะแนนทางการทหารครั้งแรกของโลก ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพทางการทหารของสหรัฐฯ สูงกว่าจีนถึงสามเท่า
  • ผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 19.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2566 คิดเป็น 13.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลก ความเสี่ยงที่เกิดจากความขัดแย้งเป็นภัยสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของรัฐบาลและธุรกิจต่าง ๆ
  • ปัจจัยชี้วัดด้านการขยายอิทธิพลทางทหารแสดงให้เห็นการเสื่อมถอยมากที่สุดในรอบปี นับตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีสันติภาพโลก โดยมี 108 ประเทศที่ขยายอิทธิพลทางการทหารที่เพิ่มขึ้น
  • ประชาชน 110 ล้านคนกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเนื่องจากความขัดแย้งรุนแรง ในปัจจุบัน มี 16 ประเทศรับผู้ลี้ภัยมากกว่าครึ่งล้านคน
  • อเมริกาเหนือเกิดการเสื่อมถอยในระดับภูมิภาคมากที่สุด เนื่องจากเกิดอาชญากรรมรุนแรงและความกลัวต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันมีความขัดแย้งเกิดขึ้น 56 รายการ ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีลักษณะเป็นความขัดแย้งระดับสากลมากขึ้น โดยมี 92 ประเทศมีส่วนร่วมในความขัดแย้งนอกพรมแดนของตน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นเผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลก ความขัดแย้งเล็กน้อยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจะเพิ่มโอกาสให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ในอนาคตได้ ตัวอย่างเช่น ในปี 2562 ความขัดแย้งในเอธิโอเปีย ยูเครน และกาซ่า ล้วนแต่ถูกระบุว่าเป็นความขัดแย้งที่เล็กน้อยมาก่อน

ปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้ง 162,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดอันดับสองในรอบ 30 ปี โดยผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งในยูเครนและกาซ่าคิดเป็นเกือบสามในสี่ของจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งในยูเครนคิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่ง โดยมีจำนวนที่บันทึกได้ถึง 83,000 คน และประมาณการได้ว่ามีผู้เสียชีวิตในปาเลสไตน์อย่างน้อย 33,000 คนจนถึงเดือนเมษายน 2567 ในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2567 มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งทั่วโลก 47,000 คน หากอัตราดังกล่าวยังดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดปี จะถือเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 2537

ผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากความรุนแรงในปี 2566 เท่ากับ 19.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 2,380 ดอลลาร์ต่อคน โดยเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 1.58 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียจีดีพีจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้น 20% ส่วนค่าใช้จ่ายในการสร้างและรักษาสันติภาพรวม 4.96 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นมูลค่าไม่ถึง 0.6% ของค่าใช้จ่ายทางทหารทั้งหมด

ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2551 รองลงมาคือ ไอร์แลนด์ ออสเตรีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศใหม่ที่ติดห้าอันดับแรก ประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลกคือเยเมนที่มาแทนที่อัฟกานิสถาน ตามด้วยซูดาน ซูดานใต้ อัฟกานิสถาน และยูเครน

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขน้อยที่สุด โดยเป็นที่ตั้งของสี่ในสิบประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุด รวมทั้งสองประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก คือซูดานและเยเมน อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีความสงบสุขปรับปรุงดีขึ้นสูงสุดในภูมิภาคนี้ โดยเพิ่มขึ้น 31 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 53 ในปี 2567

แม้ว่าปัจจัยชี้วัดความสงบสุขส่วนใหญ่จะเสื่อมถอยลงในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา แต่ก็เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นด้านอัตราการเกิดฆาตกรรมที่ลดลงใน 112 ประเทศ ขณะที่การรับรู้เกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมก็ปรับปรุงดีขึ้นใน 96 ประเทศ

Steve Killelea ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ IEP กล่าวว่า "ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความสงบสุขลดลงเก้าปีจากสิบปี เราพบว่าเกิดความขัดแย้งในจำนวนทำลายสถิติ การขยายอิทธิพลทางทหารที่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ความขัดแย้งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงทางธุรกิจจากความขัดแย้งก็เพิ่มสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ความเปราะบางทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยิ่งแย่ลง 

"รัฐบาลและธุรกิจทั่วโลกจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามแก้ไขความขัดแย้งเล็กน้อยที่มีอยู่มากมายก่อนที่จะบานปลายกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ เป็นเวลา 80 ปีมาแล้วนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และวิกฤตในปัจจุบันยิ่งเน้นย้ำความเร่งด่วนที่ผู้นำโลกต้องมุ่งมั่นกับการลงทุนเพื่อแก้ไขความขัดแย้งเหล่านี้"   

ลักษณะของความขัดแย้งที่เปลี่ยนไป 

เมื่อความขัดแย้งลุกลามมากขึ้นและขยายเป็นความขัดแย้งระดับโลก ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้โอกาสที่จะหาทางแก้ไขอย่างยั่งยืนลดน้อยลง ยูเครนและกาซ่าเป็นตัวอย่างของข้อพิพาททางประวัติศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ หรือ ‘สงครามที่ไม่มีที่สิ้นสุด’ โดยไม่มีหนทางแก้ไขที่ชัดเจน จำนวนความขัดแย้งที่มีผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดลดลงจาก 49% ในทศวรรษที่ 1970 เหลือน้อยกว่า 9% ในทศวรรษที่ 2010 ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนความขัดแย้งที่จบลงด้วยข้อตกลงสันติภาพก็ลดลงจาก 23% เหลือเพียงกว่า 4% เล็กน้อย

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่เปลี่ยนรูปแบบความขัดแย้ง คือ ผลกระทบจากเทคโนโลยีการทำสงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) ซึ่งทำให้กลุ่มที่ไม่ใช่รัฐรวมถึงรัฐเล็ก ๆ หรือมีอำนาจน้อยสามารถต่อสู้สร้างความขัดแย้งกับรัฐบาลหรือรัฐที่ใหญ่กว่าได้ง่ายขึ้น จำนวนของรัฐที่ใช้โดรนเพิ่มขึ้นจาก 16 เป็น 40 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 150% ระหว่างปี 2561 ถึง 2566 โดยในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนของกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐที่ทำการโจมตีด้วยโดรนอย่างน้อยหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 91 กลุ่ม ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 1,400%

ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง 

ด้วยเหตุจากสงครามกาซ่า การจัดอันดับของอิสราเอลลดลงต่ำสุดเป็นอันดับที่ 155 โดยมีความสงบสุขลดลงมากที่สุดในดัชนีสันติภาพโลกปี 2567 อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปาเลสไตน์มีความสงบสุขลดลงมากที่สุด โดยลดลงเป็นอันดับที่ 145 เมื่อเน้นพิจารณาที่ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ข่าวในสื่อของอิสราเอลที่มีเนื้อหาเชิงลบต่อชาวปาเลสไตน์เพิ่มขึ้น จากกว่า 30% เล็กน้อยในปี 2542 เป็น 92% เมื่อต้นปี 2566 ในขณะที่ข่าวในสื่อปาเลสไตน์ที่มีเนื้อหาเชิงลบต่อชาวอิสราเอลเพิ่มขึ้นจากเกือบ 30% ในปี 2542 เป็น 85% เมื่อต้นปี 2566

ความขัดแย้งดังกล่าวยังทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมดเข้าสู่วิกฤต โดยเกี่ยวข้องกับซีเรีย อิหร่าน เลบานอน และเยเมน และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดสงครามเต็มรูปแบบ ความขัดแย้งที่ขยายลุกลามจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้ เมื่อเน้นพิจารณาถึงประเด็นนี้ เศรษฐกิจของซีเรียหดตัวมากกว่า 85% หลังจากเริ่มเกิดสงครามกลางเมืองในปี 2554 และเศรษฐกิจยูเครนหดตัว 29% ในปีหลังจากเริ่มเกิดความขัดแย้งในปี 2565 

ศักยภาพทางการทหารทั่วโลก

ตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามยูเครน การขยายอิทธิพลทางทหารเพิ่มขึ้นใน 91 ประเทศ ซึ่งกลับกันจากแนวโน้มในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากการให้คำมั่นล่วงหน้าด้านการใช้จ่ายทางการทหารของหลายประเทศ มีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะไม่เป็นไปในทางดีขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

การเปลี่ยนแปลงด้านพลวัตของการทำสงครามทำให้จำนวนทหารลดลง ขณะที่ความซับซ้อนทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ในทศวรรษที่ผ่านมา มี 100 ประเทศลดจำนวนทหารของกองทัพติดอาวุธลง ส่วนศักยภาพทางการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 10%

การวิจัยครั้งแรกที่จัดทำโดย IEP คำนวณศักยภาพทางการทหารของประเทศต่าง ๆ โดยรวมความซับซ้อนทางการทหาร เทคโนโลยี และความพร้อมในการรบเข้าด้วยกัน แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีศักยภาพทางการทหารสูงกว่าจีนอย่างมาก ตามติดด้วยรัสเซีย ทั้งนี้ แนวทางประเมินศักยภาพทางการทหารแบบเก่าโดยทั่วไปนับเฉพาะจำนวนสินทรัพย์ทางทหารเท่านั้น

ไฮไลต์ระดับภูมิภาค 

  • ยุโรปยังคงเป็นภูมิภาคที่สงบสุขที่สุด อย่างไรก็ตาม มีค่าใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นเผยแพร่ดัชนีสันติภาพโลก
  • อเมริกาเหนือเกิดการเสื่อมถอยในระดับภูมิภาคมากที่สุด โดยลดลงเกือบ 5% ทั้งสหรัฐฯ และแคนาดามีความสงบสุขลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีสาเหตุหลักจากการเกิดอาชญากรรมรุนแรงและความกลัวต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น
  • ปัจจุบัน ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราเป็นภูมิภาคที่สงบสุขน้อยที่สุดเป็นอันดับสองรองจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เนื่องจากเผชิญกับวิกฤตด้านความปลอดภัยหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะความไม่สงบทางการเมืองและการก่อการร้ายในแถบซาเฮลกลางที่เพิ่มขึ้น
  • เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นภูมิภาคที่สงบสุขที่สุดเป็นอันดับสองโดยมีความสงบสุขลดลงเล็กน้อย ปาปัวนิวกินีมีความสงบสุขลดลงมากที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากความรุนแรงระหว่างชนเผ่าที่เพิ่มขึ้นจากข้อพิพาทเรื่องดินแดนและการถือครองที่ดิน
  • อเมริกากลางและแคริบเบียนมีความสงบสุขลดลงเล็กน้อย เนื่องจากประเทศต่าง ๆ อย่างเฮติต้องต่อสู้กับอาชญากรรมองค์กรระดับสูงและความไม่สงบภายในประเทศ อย่างไรก็ดี เอลซัลวาดอร์มีความสงบสุขปรับปรุงดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่สุดในโลก
  • อเมริกาใต้มีความสงบสุขลดลงมากที่สุดเป็นอันดับสอง ซึ่งลดลง 3.6% โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดกับปัจจัยชี้วัดด้านอัตราการเกิดฆาตกรรม มาตรวัดความหวาดกลัวทางการเมือง และความรุนแรงของความขัดแย้งภายใน

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2567 ได้ที่เว็บไซต์ visionofhumanity.org และ economicsandpeace.org ส่วนรายงานฉบับเต็ม บทความ และแผนที่เว็บเชิงปฏิสัมพันธ์ พร้อมให้บริการแล้วที่เว็บไซต์ visionofhumanity.org 

เอ็กซ์: @globpeaceindex

เฟซบุ๊ก: facebook.com/globalpeaceindex

อินสตาแกรม: instagram.com/globalpeaceindex

เกี่ยวกับดัชนีสันติภาพโลก 

รายงานดัชนีสันติภาพโลก (GPI) จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบันเกี่ยวกับความสงบสุข คุณค่าทางเศรษฐกิจ แนวโน้ม และการพัฒนาสังคมที่สงบสุข รายงานนี้ครอบคลุมประชากรโลก 99.7% และใช้ปัจจัยชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ประการจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อจัดทำดัชนี โดยปัจจัยชี้วัดเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ความปลอดภัยและความมั่นคง และการขยายอิทธิพลทางทหาร

เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ 

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก เฮก เม็กซิโกซิตี้ และไนโรบี

โลโก้ – https://mma.prnasia.com/media2/792052/4102581/IEP_Logo.jpg?p=medium600

Source : ดัชนีสันติภาพโลกเผยให้เห็นว่าประเทศที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งเพิ่มจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

This content was prepared by our news partner, Cision PR Newswire. The opinions and the content published on this page are the author’s own and do not necessarily reflect the views of Siam News Network

Share

Latest Updates

Most Viewed

Related Articles